ตำแหน่งงานที่คนลาออกบ่อย โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญที่ต้องใช้คนทำงานเยอะ มักจะมีแต่พนักงานหน้าใหม่ HR ต้องหาคนมาทดแทนอยู่เสมอ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญมากกว่า คือ การลดอัตราการลาออก เพราะการหาคนใหม่มาทดแทนตลอดเวลา ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะสถานการณ์เช่นนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่า ตำแหน่งงานนั้นมีปัญหา หากปล่อยไว้ยิ่งส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
มาสำรวจไปพร้อมกับ HR Buddy เลยค่ะ ตำแหน่งงานที่คนลาออกบ่อย มีปัญหาตรงกับข้อใดบ้าง แล้วต้องแก้ไขอย่างไร ?
1 หัวหน้างาน : คือหัวใจสำคัญของการทำงาน หัวหน้าที่ดีต้องบริหารงานพร้อมบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้ลูกน้องรู้สึกอยากทำงานด้วย องค์กรต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นหัวหน้าที่เหมาะสมกับงานนั้น จนถึงการส่งเสริมให้เขามีศักยภาพในการเป็นหัวหน้าที่ดี หากพบว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาลาออกบ่อย ก็ต้องเร่งแก้ไข
ในบางองค์กรมักคัดคนทำงานเก่งมาเป็นหัวหน้า แล้วปล่อยไปตามบุญตามกรรม ไม่ค่อยพัฒนาในมิติของการบริหารคน หัวหน้าเหล่านั้นจึงล้มเหลวในการคุมทีม เสียคนทำงานเก่งไปหนึ่งคน แต่ได้หัวหน้าแย่ ๆ มาหนึ่งคน
2 ค่าตอบแทนและสวัสดิการ : ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยจูงใจคนทำงานได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเงินเดือนน้อย อาจชดเชยด้วยเงินอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นก็ได้ และสวัสดิการก็ต้องมากพอ คุ้มค่าที่จะทำงานด้วย อย่างสวัสดิการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับพนักงาน เช่น รถรับส่ง, อาหารกลางวันฟรีโดยเชฟฝีมือดี หรือสวัสดิการแปลกที่ไม่ได้มีในทุกองค์กร เช่น ห้องดูหนังเพื่อผ่อนคลาย, ห้องนอนสำหรับคนที่ต้องการงีบ ฯลฯ
3 ทิศทางความก้าวหน้า : อย่าให้ตำแหน่งนั้นเป็นแค่งานที่ทำเพื่อฆ่าเวลาไปวัน ๆ หรือทำพอให้มีรายได้ไปก่อน ระหว่างนั้นก็หางานใหม่ไปด้วย องค์กรต้องสร้างทิศทางความก้าวหน้าให้กับตำแหน่งนั้นอย่างชัดเจน และต้องร่วมผลักดันให้พนักงานไปสู่เป้าหมายได้อีกด้วย และแนวโน้มคนรุ่นใหม่ต้องการความก้าวหน้า(เร็ว) ถ้าเรื่องนี้ไม่ชัด ก็อาจส่งผลถึงการตกลงร่วมงานกันหลังการสัมภาษณ์ได้เช่นกันค่ะ
4 สภาพแวดล้อมในการทำงาน : ภาพรวมภายในต้องน่าอยู่ นั่นคือ สถานที่ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยบรรยากาศการทำงานสนุกสนาน ไม่เครียดเกินไป เพื่อนร่วมงานเป็นมิตร มีระบบการทำงานที่ชัดเจน ทำให้พนักงานมีความสุข สบายใจกับการทำงาน เช่นนี้ใครก็อยากอยู่แบบยาว ๆ และถ้าคนภายนอกได้เห็นภาพลักษณ์ในส่วนนี้ขององค์กร การสรรหาคนเข้ามาก็จะง่ายขึ้นด้วยค่ะ องค์กรต้องตระหนักว่า ความเงียบจนเกินไปจะก่อให้เกิดความเครียดในการทำงานมากกว่าสมาธิ ผู้มาสัมภาษณ์งานอาจรู้สึกว่าเป็นองค์กรแห่งความเครียดหรือองค์กรแห่งความวังเวงก็เป็นได้
5 การประเมินผลงาน : ตำแหน่งงานนั้นต้องมีมาตรฐานในการวัดผลที่ชัดเจนและเป็นธรรม โดยการประเมินผลงานของแต่ละคนอย่างแท้จริง สร้างคุณค่าให้กับพนักงานที่ทำผลงานดี มีความตั้งใจ ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งจะช่วยรักษาบุคคลที่มีความสามารถให้กับองค์กรได้อีกด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์โรคระบาด การประเมินผลการทำงานต้องมีความระมัดระวังให้มาก เพราะสถานการณ์การทำงานมีการเปลี่ยนไปจากปกติ
ทั้งนี้ ไม่ควรประเมินผลแบบกว้างๆ ทั่วไป เช่น วัดจากการขาด ลา มาสาย หรือวัดจากภาพรวมผลงานของทุกคนโดยไม่มีเกณฑ์ชัดเจน ย่อมทำให้บุคคลที่มีความตั้งใจคิดมองหาองค์กรที่ให้คุณค่ากับตนมากกว่าอยู่แล้วค่ะ
6 การสำรวจความคิดเห็น : องค์กรต้องเปิดใจรับฟังเสียงจากพนักงานเสมอ ทั้งปัญหาหรือความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ร้องเรียนเข้ามา และลงมือปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากขาดส่วนใดไป อาจไม่สามารถลดปัญหาการลาออกบ่อยได้เท่าไรนัก เพราะทุกข้อที่กล่าวล้วนมีความสำคัญ ถ้าหาไม่ได้ในองค์กรเดิม พนักงานก็ต้องไปหาจากองค์กรใหม่แน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูล : อาจารย์ พรเทพ พงษ์สง่างาน ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน HR และกรรมการ บริษัท เซ็นเมนทอร์ จำกัด ,กรรมการบริหาร APK Management Center
Website : www.senmentor.com
Line : wisebrown
Tel : 081-820-9271
สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR : 02-514-7474 ต่อ 3
อีเมล : crm@jobbkk.com
Line : @jobbkkvip (อย่าลืมใส่ @)
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด